สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น(TNI) สถาบันอุดมศึกษาที่ก้าวเข้าสู่ปี 17 ด้วยปณิธานหวังสร้างนักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ด้วยแนวทางการสอนแบบ Monodzukuri (คิดเป็น ทำเป็น คิดจริงทำจริง) และ Active learning ที่เน้น Project- based learning, Problem-based learning, Practical-based learning and Personalized learning ทำให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน จนเป็นที่ยอมรับในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคธุรกิจเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
นอกเหนือจากจุดเด่นด้านการสร้างบุคลากรที่เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรมแล้ว สถาบันฯ ยังมีเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงวิจัย เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ๆ และนำผลงานวิจัยไปสู่เชิงปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจอย่างแท้จริง เพราะงานวิจัยที่ดีต้องตอบโจทย์อุตสาหกรรมได้ ด้วยแนวคิดนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงมีผลงานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศในเชิงปฏิบัติการ หรือ Applied Research โดยแนวทางวิจัยหลักๆ 3 กลุ่ม ได้แก่ การวิจัยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัตโนมัติ, การวิจัยเกี่ยวกับ New Material-New Energy-Decarbonization และ การวิจัยเกี่ยวกับ Automation Manufacturing เป็นต้น
การวิจัยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์อัตโนมัติ มุ่งเน้นการวิจัยเกี่ยวกับแบตเตอรี่ สำหรับ EV ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้าง สมรรถภาพ (Performance) การสร้างมาตรฐาน (Standardization) ระบบการทดสอบสมรรถภาพ รวมทั้งระบบการประเมินสมรรถนะแบตเตอรี่ โดยมีเป้าหมายในการวิจัยเพื่อพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีความบางลงโดยใช้วัสดุใหม่ (New Material) ที่มีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบา แต่สามารถบรรจุไฟฟ้าในปริมาณที่มากขึ้นโดยใช้เวลาในการชาร์จสั้นลง จาก 20 นาที เหลือไม่ถึง 5 นาที ในการวิจัยนี้ได้รับความร่วมมือกับค่ายรถยนตร์ยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น คาดว่าผลการวิจัยนี้จะทำให้สมรรถนะของ BEV(Battery Electric Car) สูงขึ้นอย่างแน่นอน และปัจจุบันมีนักศึกษาในสาขาวิศวกรรมยานยนต์ที่ได้ร่วมในโครงการวิจัย ได้เข้าทำงานในบริษัทยุโรป ที่ผลิตลิเธียมแบตเตอรี่ (นักวิจัยได้แก่ ดร.มหรรณพ ฟักขาวและ อาจารย์พงศ์กรณ์ มีลาภโชติพงศ์)
ในอีกด้านหนึ่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและทดสอบสมรรถนะยานยนต์ไฟฟ้า (EV Research and Performance Testing Center) ควบคู่กันไป โดยมีผลงานหลักๆ คือ การวิจัยการเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (Conversion)โดยมีเป้าหมายและความท้าทายว่า การดัดแปลง (Convert) นี้ จะต้องใช้เวลาและใช้ค่าใช้จ่ายให้น้อยลงได้อย่างไร โดยที่สมรรถนะนั้นไม่ได้ลดลง ขนานควบคู่ไปกับการวิจัยเกี่ยวกับแบตเตอรี่ข้างต้น เพื่อจะสามารถทำให้รถเก่า Convert ไปสู่รถยนตร์ไฟฟ้าได้ง่ายและประหยัดขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังคงมีค่าใช้จ่ายที่สูงอยู่
ศูนย์วิจัยและทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษา ที่ได้รับการรับรองให้เป็นศูนย์ทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพยานยนต์ ด้วยเครื่อง Chassis Dynamometer ซึ่งพร้อมให้บริการทดสอบและรับรองผลการทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง รวมถึงสามารถตรวจเช็กความถูกต้องของการติดตั้งชิ้นส่วน และอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงด้วย โดยได้มีความร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์ (Logistics) เช่น รถบรรทุก หลายบริษัท เพื่อให้การรับรองสมรรถนะรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงก่อนไปใช้จริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นไปตามกฎระเบียบของกรมการขนส่งทางบก โดยเป้าหมายต่อจากนี้จะดำเนินงานแบบครบวงจร เพื่อวิจัยและพัฒนาการเรียนการสอน ในด้านการสอบวัดระดับช่างฝีมือ เพื่อไปทำงานในโรงงานผลิตและเป็นช่างซ่อมรถยนต์ไฟฟ้าร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งถือว่าสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกๆ ของประเทศไทย ในการร่วมมือกันครั้งนี้ (นักวิจัยได้แก่ อาจารย์ภาสกร พันธุ์โอภาส และผศ. นเร็นศ ชัยธานี)
การวิจัยเกี่ยวกับ New Material-New Energy-Decarbonization สอดคล้องไปตามนโยบายของภาครัฐ ใน BCG model คณะฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น คือ Kindai University ในการวิจัยและพัฒนาไบโอโค้ก (Biocoke) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งชีวภาพที่เป็นพลังงานสะอาด (Green energy) สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้มีสมบัติ เช่น ค่าความร้อน ความหนาแน่น ความแข็งแรง เป็นต้น ที่เหมาะสมในการใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมหรือทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลในอุตสาหกรรม โดยใช้ชีวมวล วัสดุเหลือทิ้ง รวมถึงพืชพลังงานที่มีอยู่หลากหลายในประเทศไทย เช่น เศษวัสดุทางการเกษตร เศษไม้ยางพาราสับ ขี้เลื่อย กากปาล์ม กากกาแฟ หญ้าเนเปียร์ เป็นต้น โดยใช้เครื่องผลิตไบโอโค้กระดับอุตสาหกรรมแบบต่อเนื่องที่สามารถทำงานได้ทั้งแบบอัตโนมัติและควบคุมโดยคนเครื่องแรกของโลก โครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จาก สกว. (สำนักงานสนับสนุนกองทุนการวิจัย) ในขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนทั้งทุนวิจัยและเครื่องจักร เช่น เครื่องลดขนาดวัตถุดิบ และระบบป้อนวัตถุดิบ จาก Tachinen Green Energy Co., Ltd. ประเทศญี่ปุ่น ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อยอดจากงานวิจัยไปสู่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ การวิจัยนี้เป็นการสร้างวัสดุใหม่ พลังงานใหม่ และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยร่วมมือกับ Start Up ญี่ปุ่น Zeroboard ในการประยุกต์ใช้ Software ในการประเมิน Carbon footprint เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาคส่วนต่างๆ ในการสนองตอบนโยบายของรัฐ ที่จะสร้าง BCG economy ในอนาคต (นักวิจัย รศ. ดร.จินตวัฒน์ ไชยชนะวงศ์)
ในขณะเดียวกันได้มีการวิจัยและพัฒนา Carbon fiber ที่มีน้ำหนักเบาและแข็งแรง และมีต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต โดยจะต้องสามารถผลิตแบบ Mass production แทนที่แผ่นเหล็ก ในปัจจุบัน Carbon fiber ได้นำไปใช้กับชิ้นส่วนบางส่วนของเครื่องบิน เพื่อทำให้มีน้ำหนักเบาขึ้น สามารถบินได้เร็วขึ้น หรือเป็นชิ้นส่วนของรถแข่ง Formula One หรือรถมอเตอร์ไซค์ Moto GP (นักวิจัย ผศ. ดร.พิมพ์เพ็ชร สระทองอุ่น)
การวิจัยเกี่ยวกับ Automation Manufacturing การวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอน รวมทั้งกระบวนการนำเอาระบบ Automation System เข้าไปใช้ในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะภาคการผลิตระดับกลางและขนาดย่อม โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ร่วมพัฒนากับ AMEICC (AEM-METI Economic and Industrial Corporation Committee) ของกระทรวงเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและการค้า ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้มอบเครื่องมือให้แก่สถาบันเทคโนโลยี่ไทย-ญี่ปุ่น เพื่อใช้ในในการวิจัยและพัฒนาระบบการผลิตแบบอัตโนมัติที่มีการใช้ Software หรือ Program ต่างๆ เช่น PLC, IoT, รวมทั้ง AI เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติอย่างง่ายและลงทุนต่ำด้วยตัวเอง พร้อมกับฝึกให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจและใช้ระบบนี้ได้ ซึ่งเหมาะกับสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศไทย ให้สามารถก้าวเข้าสู่ระบบอัตโนมัติ หรือเข้าใกล้อุตสาหกรรม 4.0 ได้โดยเร็วตามนโยบายรัฐบาล การวิจัยเกี่ยวกับ Automation Manufacturing นี้จะนำไปสู่การสนับสนุนโครงการร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น ในการพัฒนาระบบการผลิตให้กับไทย เช่น โครงการ LEPI (Lean IoT Plant Management and Execution) หรือโครงการ LASI (Lean Automation System Integrators) เป็นต้น (นักวิจัย รศ.อัญชลี สุพิทักษ์, ดร.วัชรินทร์ หนูทอง, ดร. ชัชไชย วรรณบูรณ์ และ ดร. ดอน แก้วดก)
การวิจัยทั้ง 3 กลุ่ม ล้วนตอบสนองการไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม New S Curve และ อุตสาหกรรม 4.0 ตามแนวทางของรัฐบาลอย่างจริงจัง สามารถประยุกต์และนำเอาผลงานการวิจัยเหล่านี้ไปใช้ได้จริง ตามแนวทาง Applied Research อย่างแท้จริง
SHARE :