นักศึกษา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ TNI คว้ารางวัลเหรียญเงิน ผลงานวิจัยนวัตกรรมประยุกต์เทคโนโลยีการสื่อสาร IoT สร้างสิ่งประดิษฐ์ “หุ่นไล่กาอัจฉริยะ 4.0” จากการประกวด “รางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
กลุ่มนักศึกษาคณะไอที จาก สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI) ประกอบด้วย นายศุภโชค เกียรติกิติกูล, นายพงศกร อยู่สุข และนายชรัตน์ ขำแสง ได้มีโอกาสไปศึกษาแลกเปลี่ยนระยะเวลา 1 ปี ณ National Institute of Technology, Tsuruoka College ประเทศญี่ปุ่น นอกจากพวกเขาจะได้รับประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างแดนมาอย่างมากมายแล้ว พวกเขายังมีความเห็นว่าประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีหลายอย่างที่แตกต่างกัน แต่บนความแตกต่างเหล่านั้นยังมีความเหมือนกันในเรื่องของการมีพื้นที่ในการทำการเกษตรกรรมมาอย่างช้านาน และต่างก็มีปัญหานานับประการตามสภาพพื้นที่และปัจจัยอื่นๆ โดยมีปัญหาหนึ่งที่มักพบอยู่บ่อยครั้ง คือ ปัญหาสัตว์รุกราน เช่น ช้าง ลิง นก เป็นต้น ซึ่งอาจมีหลายวิธีที่ใช้ในการใช้แก้ปัญหา เช่น รั้วรังผึ้งไล่ช้าง ลวดไฟฟ้า จุดประทัด แขวนภาพเสือไว้ให้ลิงกลัว วางกับดักล่อ ตาข่ายดักนก แผ่นซีดีหรือถุงพลาสติกไล่นก เป็นต้น แต่บางวิธีอาจจะทำอันตรายต่อสัตว์ได้ พวกเขาจึงมีแนวคิด ในการป้องกันการบุกรุกโดยไม่ทำให้สัตว์บาดเจ็บ ด้วยการประดิษฐ์ หุ่นไล่กาอัจฉริยะตามแผนพัฒนาประเทศไทย 4.0 โดยการออกแบบและพัฒนาบนเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสำหรับทุกสิ่ง (Internet of Things, IoT) ที่เชื่อมต่อด้วยคลาวด์เพล็ตฟอร์ม (Cloud Platform)”ขึ้น โดยใช้อุปกรณ์ที่มีต้นทุนต่ำ แต่สามารถป้องกันความเสียหายให้กับเกษตรกรได้ดีกว่าหุ่นไล่กาแบบดั้งเดิมหรือระบบอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถแจ้งการบุกรุกให้กับเกษตรกรได้ทันท่วงที โดยการดูข้อมูลผ่านเว็บไซต์ ทำให้สามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้มากขึ้น โดย “หุ่นไล่กาอัจฉริยะ 4.0 เป็นผลงานที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงจากการที่ได้ทดลองใช้ในพื้นที่จริงทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมาแล้วเป็นระยะเวลา 1 ปี ทำให้ผลงานชิ้นนี้สามารถคว้ารางวัลเหรียญเงินจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัย (วช.) มาได้อย่างน่าชื่นชม โดยมี Dr.Salahuddin Muhammad Salim Zabir, รศ.ดร.รัตติกร วรากูลศิริพันธ์ คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และ ผศ.ดร.อรรณพ หมั่นสกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
รูปที่ 1 ภาพรวมของระบบหุ่นไล่กาอัจฉริยะ
รูปที่ 2 อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลอง
รูปที่ 3 เชื่อมต่อเซ็นเซอร์บนคลาวด์เพล็ตฟอร์ม รูปที่ 4 ผู้ใช้สามารถดูข้อมูลทั้งหมดได้ผ่านเว็บไซต์
SHARE :