ศักยภาพของประเทศไทย ในการรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิม
◄ 2 มกราคม 2563 ►
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วนิดา วาดีเจริญ ศูนย์วิจัยและบริการธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI) พร้อมด้วย อาจารย์ยุรนันท์ มูซอ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ได้สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อิมรอน มะลูลีม ประธานที่ปรึกษา โรงแรม อัล มีรอซ กรุงเทพ และผู้บริหารของบริษัท เกี่ยวกับ “ศักยภาพของประเทศไทยในการรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิม” โดยมีเนื้อหาสำคัญดังนี้
“การท่องเที่ยวฮาลาล” หรือ “Halal Tourism” เป็นรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวมุสลิม เริ่มจากการให้บริการด้านที่พัก ร้านอาหาร การบริการของโรงแรม การคมนาคมขนส่ง และกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่ไม่ขัดกับหลักศาสนา รวมทั้งการอำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติศาสนกิจประจำวันของชาวมุสลิม
ตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักของคนไทยเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา
และเริ่มมีการนำมาใช้ประโยชน์เชิงการค้าได้ประมาณ 10 ปีที่แล้ว ซึ่ง โรงแรมอัล
มีรอซ กรุงเทพ เป็น “เดอะลีดดิ้งฮาลาลโฮเต็ล” แห่งแรกของประเทศไทย
เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2559
โดยมีนักท่องเที่ยวมุลลิมเข้ามาใช้บริการจากทั่วโลก ทั้งนี้คำว่า “เดอะลีดดิ้งฮาลาลโฮเต็ล” หมายถึงการให้บริการฮาลาลทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องอาหารการกินเท่านั้น
ทว่ายังรวมถึงความปลอดภัย ความสะอาด ความน่าเชื่อถือ เชื่อใจ ความซื่อสัตย์
และการให้บริการด้วยคุณภาพชั้นเลิศ
ในระยะ 2 ปี ที่ผ่านมา โรงแรมอัล มีรอซ กรุงเทพ
ได้รับความไว้วางใจจากนักท่องเที่ยวมุสลิมมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซีย
และอินเดีย (ทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม) เข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก โดยกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ “Wedding
Halal” ที่ลูกค้าชาวอินเดียให้ความไว้วางใจกับทางโรงแรมเป็นผู้ดำเนินการดูแลในส่วนต่างๆ
นอกจากนี้เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย “Medical
Tourism” โดยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ หรือ “Gulf Cooperation Council” (GCC) ประกอบด้วยสมาชิก 6
ประเทศ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
กาตาร์ และบาห์เรน
ในทัศนะของทางโรงแรมมองว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นนักท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง
“High Value Tourist”ที่ประเทศไทยต้องรักษาฐานลูกค้าให้ได้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในกลุ่ม
“Medical
Tourism” เนื่องจากมีกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม เช่น
ประเทศเกาหลีใต้ ให้ความสนใจดึงดูดนักท่องเที่ยวจาก UAE เข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้
จึงอยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวในกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
เช่น ประเทศมาเลเซียที่มี “Islamic Information Center” เป็นหน่วยงานประสานการท่องเที่ยวฮาลาลครบวงจร
SHARE :