ศูนย์วิจัยและทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น (TNI)

    กระแสรถยนต์ไฟฟ้า กำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ด้วยปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพหนักขึ้นทุกวัน

    สำหรับคนที่มีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์อยู่แล้วส่วนหนึ่ง เริ่มมองหาวิธีการนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ของตัวเองไปดัดแปลง เปลี่ยนจากเครื่องยนต์เป็นมอเตอร์ไฟฟ้าแทน ซึ่งวิธีการนี้ เมื่อผ่านกระบวนการดัดแปลงเรียบร้อยแล้ว จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากศูนย์ทดสอบยานยนต์ ของสถาบันยานยนต์ หรือสถาบันการศึกษาเท่านั้น จึงจะนำรถไปจดทะเบียน กับกรมการขนส่งทางบกได้

    วันนี้สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการทดสอบยานยนต์ แก่ประชาชนทั่วไปแล้ว โดยมีอาจารย์ภาสกร พันธุ์โอภาส อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์วิจัยและทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น เป็นผู้ควบคุมการให้บริการ

Q : จุดเริ่มต้นของการให้บริการศูนย์วิจัยและทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นได้อย่างไร

หลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ ( Automotive Engineering : AE ) และวิศวกรรมไฟฟ้า ( Electrical Engineering : EE ) มีการเรียนการสอน ที่นอกจากภาคทฤษฎีแล้ว เรามีภาคปฏิบัติให้นักศึกษาได้ลงมือทำจริง ซึ่งจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการเรียนรู้ และเมื่อมีการจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับการทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพรถแล้ว เราก็เล็งเห็นประโยชน์ว่า สามารถนำมาให้บริการประชาชนทั่วไป ที่มีความสนใจจะดัดแปลงรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นระบบไฟฟ้า ซึ่งหลังจากนั้นต้องนำไปทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพ ในปัจจุบันสถาบันที่ให้บริการทดสอบยานยนต์ในประเทศไทยยังมีน้อย

Q : ผู้ที่นำรถไปดัดแปลง ต้องผ่านกระบวนการรับรองอย่างไรบ้าง

การดัดแปลงรถจากเครื่องยนต์เป็นระบบไฟฟ้า เมื่อนำรถเข้าอู่ดัดแปลงแล้ว ต้องผ่านการรับรอง 3 ส่วน คือ 1) วิศวกรเครื่องกล รับรองการดัดแปลงโครงสร้างเกี่ยวกับเครื่องยนต์ มอเตอร์
2) วิศวกรไฟฟ้า รับรองการเดินระบบไฟฟ้าภายในรถ และ
3) สถาบันการศึกษา หรือสถาบันยานยนต์ ที่มีศูนย์ทดสอบยานยนต์ เพื่อทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพของรถยนต์ แล้วนำผลการทดสอบ ไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก

Q : คิดว่าการดัดแปลงรถเป็นพลังงานไฟฟ้า มีข้อดีอย่างไรบ้าง

ปัจจุบันคนให้ความสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แต่การซื้อรถยนต์ไฟฟ้านั้นราคาสูง บางคนที่มีรถอยู่แล้ว จึงนำรถมาดัดแปลงเป็นระบบไฟฟ้า แม้ว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดัดแปลง และค่าแบตเตอรี่รถ หลักแสน แต่ในระยะยาวถือว่าคุ้มค่า  เพราะรถไฟฟ้าจะเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษา น้อยกว่าระบบเครื่องยนต์ และที่สำคัญใช้การชาร์จไฟฟ้าจากไฟบ้าน ไม่เสียค่าน้ำมัน ทำให้ประหยัดเงินในระยะยาวอย่างมาก นอกจากนี้ยังลดมลพิษ ฝุ่นละอองในอากาศ และลดมลพิษทางเสียงอีกด้วย

Q : ศูนย์วิจัยและทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น ให้บริการอย่างไร ?

เราให้บริการทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพรถยนต์ ด้วยเครื่อง – Chassis Dynamometer และทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพรถจักรยานยนต์ โดยนำรถขึ้นเครื่องทดสอบเพื่อวัดประสิทธิภาพของรถ โดยการวิ่งต่อเนื่อง 30 นาที ความเร็วไม่ต่ำกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นจะให้ใบรับรองผลการทดสอบ จากศูนย์ทดสอบฯ ภายในหนึ่งวัน

     สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น ขอเชิญชวนประชาชน ที่กำลังดัดแปลง หรือมีแผนที่จะดัดแปลงรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เป็นระบบไฟฟ้า รับปรึกษาการติดตั้ง มาให้บริการทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพรถไฟฟ้า โดยเรามีจุดประสงค์แรกเริ่มคือเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนในหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ให้ทันสมัย รวมถึงการให้บริการประชาชนทั่วไปในราคาไม่แพง โดยรถจักรยานยนต์ มีค่าบริการ ประมาณ 1,000 บาทต่อครั้ง ส่วนรถยนต์ค่าบริการ ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ในภาวะที่ราคาน้ำมันแพงและสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

Øเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี TNI

Ø  ศูนย์วิจัยและทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

    ให้บริการทดสอบประสิทธิภาพรถดัดแปลงได้ฟรี  วันนี้ – 19 สิงหาคม 2565  

ผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ :
อาจารย์ภาสกร พันธุ์โอภาส หัวหน้าศูนย์วิจัยและทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
โทร.02-7632600
#2905, 2923

Ø  ติดตามคอร์สอบรมได้ที่ Facebook : ศูนย์บริการวิชาการและวิจัย สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น https://www.facebook.com/training.tni/

Ø ดูคลิป VDO ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=9tLfj1vPdEM&t=60s




SHARE :