บทสัมภาษณ์พิเศษ รศ.รังสรรค์ เลิศในสัตย์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

“TNI กับการส่งเสริมการศึกษาที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของบริษัทญี่ปุ่น โดยเฉพาะทางด้านไอที”

เผยแพร่ทาง THIABIZ (ฉบับภาษาญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 

Q. ประวัติความเป็นมาของสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศญี่ปุ่น  

    สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นจัดตั้งขึ้นในปี 2007 โดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ TPA ซึ่งสมาคมนี้ ก่อตั้งขึ้นโดยนักเรียนเก่าญี่ปุ่น โดยเฉพาะนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นสู่ประเทศไทย โดยมี ท่านอาจารย์ Hozumi Goichi  และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ท่านสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นผู้เริ่มก่อตั้ง สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นนี้ ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนักศึกษาที่จบใหม่ให้มีความรู้ ทักษะ และความคิด รวมทั้งจิตวิญญาณแบบญี่ปุ่น เปรียบเสมือนกับผู้ที่ได้ไปศึกษาที่ญี่ปุ่น สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

    ในช่วงเริ่มก่อตั้งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากองค์กรญี่ปุ่นในประเทศไทย ได้แก่ สถานทูตญี่ปุ่นในประเทศไทย, JETRO, JCC, JICA, AOTS, สมาคมคนญี่ปุ่นในประเทศไทย รวมทั้ง JTECS  ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายของ ส.ส.ท. (TPA) และเป็นตัวแทนของกระทรวงเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น นอกจากนี้บริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยจำนวนมาก ทั้งที่เป็นสมาชิก JCC และไม่ได้เป็นสมาชิก ต่างให้การสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การให้คำปรึกษาเรื่องแนวทางการเรียนการสอนที่เป็นที่ต้องการขององค์กรธุรกิจญี่ปุ่นทั้งในประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น การบริจาคอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ การบริจาคทุนการศึกษา รวมทั้งยินดีรับนักศึกษาไปฝึกงาน และสหกิจศึกษา พร้อมรับเข้าทำงานหลังจบการศึกษาด้วย    

Q. กลยุทธ์และจุดเด่นของสถาบันฯ การเรียนการสอนแบบ Monodzukuri แตกต่างจากการเรียนการสอนทั่วไปอย่างไร และเบื้องหลังแนวคิดในการมุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนา Research & Innovation

    สถาบัน เริ่มต้นจากการมี 3 คณะ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะบริหารธุรกิจ โดยมีคณะละ 1 หลักสูตรในช่วงแรก ปัจจุบันสถาบันมีทั้งหมด 5 คณะ  โดยเพิ่มคณะสื่อสารสากล และวิทยาลัยนานาชาติ (TNIC) มีหลักสูตรทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท รวม 25 หลักสูตร และยังมีหลักสูตรเทียบโอนสำหรับผู้ที่ทำงานแล้ว รวม 9 หลักสูตร  ในปี 2025 นี้ จะเปิดคณะใหม่ที่เรียกว่า คณะเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อธุรกิจอุตสาหกรรมและมีหลักสูตรใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 หลักสูตร   

    การเรียนการสอนแบบ Monodzukuri นี้ เริ่มต้นจากหลักคิดที่เรียกว่า 5 Gen (5ゲン主義)ได้แก่ Genba, Genbutsu, Genjitsu, Genri และ Gensoku นักศึกษาทุกคนไม่ใช่เรียนเพียงแต่ทฤษฎี แต่ต้องรู้ปฏิบัติ จึงมีการเรียนแบบ 3PBL+P  นั่นคือ Project-based learning, Problem-based learning, Practice- based learning, และ Personalize learning นักศึกษาเรียนรู้แนวคิดการทำงานแบบญี่ปุ่นโดยเฉพาะ 5ส, ไคเซ็น,  PDCA, การวินิจฉัยองค์กร (shindan) เป็นต้น ซึ่งเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย นักศึกษาทุกคนต้องไปสหกิจศึกษา (Internship) ที่สถานประกอบการ 1 ภาคการศึกษา และสถาบันมีเครือข่ายสถานประกอบการให้นักศึกษาไปไปสหกิจศึกษา ประมาณ 1,000 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 70%  นักศึกษาต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นทุกคน อย่างน้อย 5 วิชา เพื่อจะได้ซึมทราบแนวคิด จิตวิญญาณความเป็นญี่ปุ่นจากการเรียนภาษาญี่ปุ่น ในปัจจุบันมีอาจารย์สอนภาษาญี่ปุ่นประมาณ 30 คน เป็นชาวญี่ปุ่นกว่า 10 คน สามารถสร้างวิศวกรที่รู้ภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากจากบริษัทญี่ปุ่น ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น สำหรับปรัชญาการศึกษา หรือ TNI 6 Core Value ประกอบด้วย Kaizen (改善), Monodzukuri (ものづくりの思想), Hansei (反省), Respect (自他の尊重), Honest (誠実), Public Interest Conscious  (公益意識) เมื่อรวมกันแล้วเป็น KM-HR-HoP ซึ่ง Core Value นี้ ได้นำมาสอนให้แก่นักศึกษาควบคู่การเรียนการสอนแบบ Monodzukuri ด้วย

    ส่วนการส่งเสริมการพัฒนา Research & Innovation  นั้น ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินการผลักดันให้แต่ละคณะ สร้าง Center of Research Excellent (CORE) โดยในแต่ละคณะจะต้องมี CORE นี้ ประมาณ  2-3 CORE การวิจัยนั้นมุ่งเน้นการวิจัยแบบ Applied research ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก เช่น New Material-New Energy research lab หรือ  Advanced Mobility and Propulsion Research Lab (การวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนรถยนต์ เครื่องยนต์ อุปกรณ์จากโตโยต้าประเทศไทย)  ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น

Q. สถาบันมีแนวทางการผลิตบุคลากรให้มีความสามารถตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทญี่ปุ่นในปัจจุบันอย่างไร

    ช่วงเริ่มก่อตั้ง ในการสร้างหลักสูตรนั้น ได้มีคณะอนุกรรมการที่ประกอบด้วยภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม บริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย เข้ามาให้ความเห็นว่า ต้องการบุคลากรในสาขาใดบ้าง ต้องมีความรู้ ทักษะเฉพาะ รวมทั้ง ภาษา และแนวคิดอย่างไรบ้าง   และยังต้องศึกษาจากผู้ที่ต้องการเข้าเรียนว่า ต้องการทำงานในบริษัทหรือองค์กรญี่ปุ่นหรือไม่  ต้องการเรียนภาษาญี่ปุ่นมากน้อยเพียงใด จากการสำรวจพบว่า ภาษาญี่ปุ่นยังเป็นที่นิยมในการเรียนในระดับมัธยมศึกษาอย่างมาก แสดงว่า ความสนใจทำงานในธุรกิจอุตสาหกรรมญี่ปุ่นยังมีอยู่มาก    

หลังจากก่อตั้งแล้ว มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนสถาบัน จาก JCC มีการประชุมเป็นประจำ เพื่อทราบความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบริษัทญี่นในประเทศไทย เพื่อนำเอาคำแนะนำเหล่านี้ไปเปิดหลักสูตรใหม่ๆ โดยเฉพาทางด้านอุตสาหกรรม (วิศวกรรม) นอกจากนี้ การไป Internship ก็ทำให้สามารถรับรู้ความต้องการของบริษัทญี่ปุ่น นำมาดำเนินการปรับปรุงการเรียนการสอน  จากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ผู้จบการศึกษาจากสถาบันในแต่ละปีได้ไปทำงานในบริษัทญี่ปุ่น หรือเครือข่ายบริษัทญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

Q. ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีมุมมองต่อการเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างไร และสัดส่วนการเข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่นของศิษย์เก่าเป็นอย่างไร

    คนรุ่นใหม่ ยังมีความชื่นชอบในการเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่มาก จากการสำรวจโรงเรียนมัธยมที่มีการเรียนภาษาญี่ปุ่น เป็นห้องพิเศษนั้น ทั่วประเทศไทยมีประมาณ 100 โรงเรียน แต่ละปีจะมีนักเรียนที่จบภาษาญี่ปุ่น ไม่ต่ำกว่า 4,000 คน โรงเรียนหลายแห่งยังอยากจะเปิดภาษาญี่ปุ่น แต่ หาอาจารย์ชาวญี่ปุ่นไม่ค่อยจะได้ ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่ว่า ภาครัฐของญี่ปุ่น ควรจะส่งเสริมให้มีการเพิ่มอาจารย์ชาวญี่ปุ่น (รวมทั้งอาจารย์ชาวไทย) ให้มากขึ้น การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นแต่ละครั้ง จะมีผู้เข้าสอบไม่ต่ำกว่า 5,000 คน สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น สามารถสร้างนักศึกษาที่จบแล้วรู้ภาษาญี่ปุ่น ปีละเกือบ 1 ,000 คน ปัจจัยอย่างหนึ่งที่อิทธิพลทำให้คนรุ่นใหม่ยังอยากเรียนภาษาญี่ปุ่นคือ Japanese animation ซึ่งยังไม่ได้เกิดขึ้นจากประเทศอื่นๆในอนาคตอันใกล้นี้ สถาบันจะเริ่มมีการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นเฉพาะสาขา เช่น ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านไอที หรือด้านบริหารธุรกิจ ซึ่งสามารถเอาไปใช้ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นได้เลย นักศึกษาที่จบการศึกษาจากสถาบัน ในแต่ละปี สถิติก่อนเกิดโควิด (Covid-19) นั้น ได้เข้าทำงานที่บริษัท อยู่ที่ประมาณ 50-60% ของผู้ที่จบการศึกษา ในช่วงโควิด สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดี อาจจะลดลงบ้าง แต่ในขณะนี้ ไค้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว ไปทำงานบริษัทที่ไม่ใช่สัญชาติญี่ปุ่น มักจะลาออกแล้วอยากจะมาทำงานบริษัทญี่ปุ่นมากขึ้น ทางสถาบันมีหน่วยงานแนะนำหรือแนะนำ Agency บริษัทญี่ปุ่นผู้มีความเชี่ยวชาญให้ เป็นที่น่าสังเกตว่านักศึกษาของสถาบันที่จบแล้ว ไปทำงานที่บริษัทจีน มีเพียง 5% และเกาหลีเพียง 2%  นอกจากนี้ในระยะหลังนักศึกษาไทยสนใจเรียนไอทีมาก หากมีบริษัทด้านไอทีจากญี่ปุ่นมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ก็คงจะดีมาก ซึ่งปัจจุบันยังมีน้อยอยู่เมื่อเทียบกับบริษัทด้านการผลิต จะทำให้อัตราการทำงานของบริษัทญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นได้ และเป็นที่น่ายินดีว่า บริษัททางด้านการค้าและบริการจากญี่ปุ่นเข้ามามากขึ้น ทำให้นักศึกษาที่จบทางด้านบริหารธุรกิจมีโอกาสได้ทำงานมากขึ้นอีกด้วย

    สถาบันจัด Job Fair เพื่อให้นักศึกษาได้รับรู้การรับพนักงานจากบริษัทต่างๆ ปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนกุมภาพันธ์ และเดือนกันยายน ในแต่ละครั้งจะมีบริษัทเข้าร่วมประมาณ 70 บริษัท ในจำนวนนั้นมีประมาณ 80% เป็นบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งรวมทั้งบริษัทที่มาจากญี่ปุ่นโดยตรง ครั้งละประมาณ 5-6 บริษัท ที่มารับนักศึกษาของสถาบันโดยตรง มีนักศึกษาและบุคคลภายนอกเข้าร่วมครั้งละ  700-800 คน

Q. ศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นในอนาคตต่อจากนี้

    การธำรงรักษาศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตของญี่ปุ่นให้มั่นคงต่อไปได้นั้น มีประเด็นสำคัญ คือการพัฒนาบุคลากรทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพราะการผลิตของญี่ปุ่นในประเทศไทยนั้น จะต้องเน้นผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพราะค่าจ้างแรงงานของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ดังนั้น จึงต้องการทักษะที่สูงขึ้น  ไม่ว่าจะเป็น ทักษะด้านโรโบติกส์ ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ รวมทั้งทักษะใหม่ๆ เช่น AI, IoT คือต้องมีการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต Re-skill, Up-skill มากขึ้น ดังนั้น สถาบันได้ตอบสนองความต้องการเหล่านี้ โดยการเปิดการสอนหลักสูตรเทียบโอน สำหรับผู้ที่จบ ปวส. ที่ทำงานแล้ว เพื่อเพิ่มความรู้ ทักษะ ศาสตร์ใหม่ๆ โดยเริ่มการเรียนการสอนมาแล้ว 2 ปี ในแต่ละปีมีผู้เข้ามาเรียนกว่า 200 คน ตั้งเป้าหมายว่าในอีกไม่เกิน 3 ปีจะมีผู้มาเรียนไม่น้อยกว่า 500 คน

    ในอีกด้านหนึ่ง การมีโคเซ็นแบบญี่ปุ่น ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทย เพราะมีตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว การขยายโคเซ็นหรือวิทยาลัยเทคนิคสไตล์โคเซ็น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน  สถาบันเองก็กำลังจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคสไตล์โคเซ็นขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

Q. สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น มีความร่วมมือที่โดดเด่นกับองค์กรและหน่วยงานใดบ้าง เช่น มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น

    สถาบันมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น จำนวน 77 แห่ง โดยในจำนวนนี้มีโคเซ็น 12 แห่ง เช่น Tohoku University, Osaka University, Kyushu University, Shibaura Institute of Technology, Kochi University of Technology, Hosei University, Meiji University ฯลฯ ความร่วมมือเหล่านี้ นำไปสู่การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิจัย ในโครงการแลกเปลี่ยนระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ 16 แห่ง และมหาวิทยาลัยในไทย 10 แห่ง รวมถึงโรงเรียนกว่า 20 แห่ง ซึ่งเป็นการลงนามความร่วมมือ (MOU) อย่างเป็นทางการ 

    นอกเหนือจากนั้น เรายังมีการร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนของไทย รวมถึงองค์กรญี่ปุ่นหลายแห่งในประเทศไทย และในประทศญี่ปุ่น โดยที่ผ่านมาเราได้รับการบริจาคทุนการศึกษา อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ จากบริษัทญี่ปุ่นกว่า 50 แห่ง 

ที่มาและต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น : https://th-biz.com/interview-mr-rungsan-tni/




SHARE :