พิธีประสาทปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ประจำปีการศึกษา 2566 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566
ณ หอรัชมงคล สวนหลวง ร.๙
โดยมีนายจิระพันธ์ อุลปาทร นายกสภาสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เป็นประธานในพิธี และให้โอวาทแก่บัณฑิต กล่าวได้ว่า "บัณฑิตของสถาบันแห่งนี้ถือเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในศาสตร์วิชาต่างๆเป็นบุคคลที่มีพลังเปี่ยมล้นทั้งกายและใจในการนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้รับตลอดระยะเวลาที่ศึกษาไปพัฒนาตนเอง สังคมและประเทศชาติ คุณสมบัติประการหนึ่งที่ภาคภูมิใจและได้ยึดถือปฏิบัติจากรุ่นสู่รุ่นจนหยั่งลึกในตัวบัณฑิตทุกคน และเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นจนได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้างคือ การยึดถือแนวปฏิบัติตามค่านิยมร่วมของสถาบัน หรือ TNI Core Values ที่สำคัญ อันได้แก่ Monodzukuri การสร้างสรรค์และมุ่งมั่นในการสร้างผลงานอย่างมีคุณภาพ, Kaizen การพัฒนางานและตนเองอย่างต่อเนื่องไม่ย่อท้อ, Hansei การน้อมรับความผิดพลาดของตนเองและพร้อมปรับปรุงแก้ไข ค่านิยมร่วมดังกล่าว ถือเป็นคุณสมบัติที่แสดงถึงการเป็นคนเก่ง คนดี มีคุณธรรม ผมเชื่อมั่นว่าหากบัณฑิตทุกคนได้ไตร่ตรอง และนำไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจะทำให้บัณฑิตเป็นบุคคลที่มีความสามารถที่โดดเด่น ประสบความสำเร็จ ก้าวหน้าในชีวิต และการงานสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นแบบอย่างที่ดีขององค์กรและสังคม และนำมาซึ่งชื่อเสียงเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลและสถาบัน"
นายจิระพันธ์ อุลปาทร นายกสภาสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กล่าวให้โอวาท แก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2566
รองศาสตราจารย์รังสรรค์ เลิศในสัตย์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กล่าวรายงานการดำเนินงานของสถาบัน
รศ.รังสรรค์ เลิศในสัตย์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กล่าวรายงานถึงการบริหารจัดการสถาบันด้วยหลักธรรมาภิบาล และกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาสถาบันเพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลง ท้าทาย สู่ความเป็นเลิศ และยั่งยืน ตลอดจนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ อันได้แก่ การพัฒนาการเรียน การสอนและคุณภาพนักศึกษา การพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่สอดรับกับความต้องการพัฒนาบุคลากรในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม การปรับปรุงหลักสูตรเดิมให้มีความโดดเด่นและทันสมัย การรับนักศึกษาหลักสูตรพิเศษเทียบโอนหน่วยกิตสำหรับผู้ทำงานที่ต้องการพัฒนาความรู้และปรับวุฒิการศึกษา การยกระดับความเป็นนานาชาติด้วยการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเพื่อการแลกเปลี่ยนนักศึกษา การพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) เพื่อรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียน การเตรียมการเปิดคณะวิชาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม ในปี 2568 เพื่อผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์ การจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเรียนการสอน โดยมีภารกิจหลักด้านการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้มีความหลากหลายและทันสมัย อาทิ Monodzukuri concept, Kosenstyle Education, Lifelong Learning Education, Work-Integrated Learning เพื่อรองรับการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาเฉพาะ อีกทั้งยังเน้นการดำเนินงานด้านบริการวิชาการสู่สังคมร่วมกับภาครัฐและธุรกิจอุตสาหกรรม ในอนาคต สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นจะมุ่งสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีความชำนาญทางด้านการวิจัย จึงได้มีการกำหนดยุทธศาตร์การวิจัย โดยให้แต่ละคณะจัดตั้ง Center of Research Excellence (CORE) โดยเริ่มจากการวิจัยทางด้านยานยนต์ไฟฟ้า ทางด้านการผลิตอัตโนมัติ ทางด้านวัสดุใหม่ พลังงานใหม่ นวัตกรรมทางธุรกิจสไตล์ญี่ปุ่น การบริหารทรัพยากรมนุษย์สไตล์ญี่ปุ่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านดิจิทัลโลจิสติกส์ เป็นต้น
ปัจจุบันสถาบันเปิดดำเนินการสอนรวม 26 หลักสูตร เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 23 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรภาษาไทย 20 หลักสูตร และหลักสูตรนานาชาติ 3 หลักสูตร และหลักสูตรระดับปริญญาโท 3 หลักสูตร มีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาแล้ว 10,712 คน เป็นระดับปริญญาตรี 9,759 คน และปริญญาโท 953 คน
นางสาวธนิสรา พุ่มสุข ผู้แทนบัณฑิตกล่าวนำคำปฎิญาณ
ดูพิธีประสาทปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2566 ย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/ThaiNichi/videos/1622704328641908
SHARE :